“ลงทุนค่อนข้างยาก” หากจะยกนิยามนี้ให้ตลาดหุ้นไทยคงไม่ผิดนัก เพราะในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (เดือนม.ค.-ก.ย.2560)
ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนได้ดีสุดเพียงระดับ 8.49% ขณะที่ตลาดหุ้นเอเซียโดยรวมสร้างผลตอบแทนใกล้ๆ 20% นำทีมโดยตลาดหุ้นฮ่องกง ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และตลาดหุ้นอินเดีย ที่ขยับตัวขึ้น 25.24% 19.46% และ 18.30% ตามลำดับ
ทว่าหากพิจารณาผลตอบแทนของแต่ละอุตสาหกรรมจะพบว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีเพียง 4 กลุ่มธุรกิจเท่านั้นที่สร้างผลตอบแทน “ติดลบ” นั่นคือ กลุ่มเกษตร กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มอาหาร และกลุ่มโรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพ โดยปรับตัวลดลง 7.05% 6.92% 0.78% และ 4.58% ตามลำดับ แต่เหตุใดพอร์ตรายย่อยจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร…
“พี่นิด ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ หัวหน้าสายงานวิจัยลูกค้าบุคคล หลักทรัพย์บัวหลวง วิเคราะห์เรื่องนี้ ผ่านห้องเรียนการลงทุนประจำ “โครงการเดอะ สต๊อก มาสเตอร์ ๒๕๖๐” ในหัวข้อ “เจาะภาพรวมการลงทุนปลายปี 2017 ต่อเนื่องปี 2018” ว่า แม้กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่จะสร้างผลตอบแทนเป็น “บวก” ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา นำทีมโดยกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และกลุ่มยานยนต์ 27.03% 25.87% 22.70% ตามลำดับ
แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยกับมี “มูลค่าพอร์ตลดลง หรือไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น” นั่นแสดงว่า นักลงทุนเลือกใช้วิธีการลงทุนที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากบางคนเสพข้อมูลมากเกินไป ขณะที่บางคนไม่ได้ดูรายละเอียดของบท วิเคราะห์ว่าอยู่ในฝั่งเทคนิคหรือพื้นฐาน เมื่อลงทุนผิดวิธี ย่อมทำให้พอร์ตไม่เป็นบวก
เลือกหุ้นไม่ถูกปัญหาใหญ่นักลงทุน
แม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย (ไม่รวมเงินปันผลเฉลี่ยปีละกว่า 3%) จะอยู่เฉลี่ยต่อปี 6.91% ถือเป็นตัวเลขที่ดี เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่หนึ่งปัญหาสำคัญของนักลงทุนทั่วไป คือ “การเลือกหุ้น” หลายคนไม่รู้จะคัดหุ้นตัวไหนเข้าพอร์ต ทั้งๆ ที่รู้ว่าตลาดหุ้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น
ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาที่นักลงทุนพอจะทำได้ คือ ซื้อกองทุนรวมดัชนี
เรื่องหนึ่งที่นักลงทุนต้องรู้ คือ ปัจจุบันโครงสร้างตลาดหุ้นไทยเฉลี่ย 50% ถูกเทน้ำหนักไปทางกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่เหมือนโครงสร้างเมื่อ 20 ปีก่อนที่ส่วนใหญ่ถูกถ่วงน้ำหนัก ด้วยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงิน และไอซีที ฉะนั้นเมื่อโครงสร้างเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่จะเห็นหุ้นไทยสวิงตัว
“นักลงทุนหลายคนคาดหวังจะเห็นหุ้นไทยทะยานไปไกลเหมือนตลาดหุ้นต่างประเทศ แต่โครงสร้างหุ้นไทยที่ไม่เหมือนหุ้นต่างประเทศ โดย 50% เป็นอุตสาหกรรมดั่งเดิม (พลังงาน และการเงิน) ทำให้ดัชนีไทยขยับตัวได้ค่อนข้างยาก” คุณชัยพร แจกแจง
แนะวิธีคัดหุ้นแบบรายย่อย
คุณชัยพร แนะนำมือใหม่ว่า นักลงทุนควรเริ่มต้นลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มอาหาร เป็นต้น เมื่อมีประสบการณ์การลงทุน และเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจมากขึ้นค่อยขยับตัวไปลงทุนในหุ้นที่มีกำไรไม่คงที่ เช่น นิคมอุตสาหกรรม รับเหมาก่อสร้าง น้ำมัน และปิโตรเคมี เป็นต้น
เทคนิคสำคัญในการลงทุน คือ ไม่ควรกดดันตัวเอง ด้วยระยะเวลาการถือครอง และอย่าให้ความสำคัญต้นทุนของตัวเองมากกว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียน ขอยกตัวอย่างการลงทุนของ “ฟันด์เมเนเจอร์ขนาดใหญ่” ให้พอเห็นภาพว่า เหตุใดเขาจึงประสบความสำเร็จในการลงทุน…
ก่อนผู้จัดการกองทุนจะคัดหุ้นเข้าพอร์ต เขาจะลงลึกไปถึงโมเดลตัวเลข โดยจะเข้าไปดูสมมติฐานที่จะทำให้ผลประกอบการขยายตัว และเมื่อเลือกหุ้นได้แล้วจะถือลงทุนระยะยาวจนกว่ากำไรของบริษัทนั้นจะวิ่งไปตามที่คาดหวัง เว้นแต่ว่าโครงสร้างของกำไรและยอดขายจะมีหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางขาลง เขาก็จะขายหุ้น
แต่ในฝั่งของนักลงทุนทั่วไป มักเลือกซื้อหุ้น ตามคำแนะนำของนักวิเคราะห์ โดยจะเน้นดูภาพรวมของผลประกอบการ และดูราคาหุ้นว่า ยังห่างจากราคาเป้าหมายหรือไม่ ที่สำคัญหากโครงสร้างการเงินเปลี่ยนแปลง นักลงทุนรายย่อย มักไม่ขาย ตรงข้ามกับถือต่อ เพราะหลายคนให้ความสำคัญกับต้นทุนของตัวเองเป็นหลัก
ลูกค้าหลักทรัพย์บัวหลวง สามารถเข้าไปดูความเคลื่อนไหวการลงทุนของตัวเองได้ที่ itracker
“ก่อนลงทุน ผู้จัดการกองทุนมักวิเคราะห์ว่า บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้จะมีเงินจะเข้ามาช่วงไหนมากกว่ากัน ระหว่าง 6 เดือนแรก หรือ 6 เดือนหลัง ตรงข้ามกับนักลงทุนที่มักดูงบการเงินเป็นรายไตรมาส ที่สำคัญรายย่อยชอบลงทุน ตอนงบการเงินใกล้ออก และช่วงที่นักวิเคราะห์แนะนำการลงทุนว่า เทคนิคกำลังสวย”
เป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2560 และปี 2561
คุณชัยพร เล่าว่า ทุกครั้งที่ตลาดหุ้นไทยซื้อขายที่ค่า P/E 16.6 เท่า ราคามักชนซิลลิ่ง นั่นแปลว่า เวลานี้ต้องเข้าซื้อด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจมีการขายทำกำไรเกิดขึ้น เมื่อนักลงทุนได้ยินเช่นนี้ อาจเกิดความกังวล ส่วนตัวขอย้ำให้ความมั่นใจว่า หากสองผู้จัดการกองทุนที่บริหารสินทรัพย์ขนาดใหญ่เชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะมีการเลือกตั้ง และเชื่อว่าเงินปันผลจะอยู่ระดับ 3% การรับตัวลงแรงของตลาดหุ้นในช่วงนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ฉะนั้นเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1,627 จุด ไม่น่าพลาดเป้า
ส่วนเป้าหมายดัชนีปี 2561 หลักทรัพย์บัวหลวง มองระดับ 1,742 จุด ขณะที่โบรกเกอร์เจ้าอื่นๆยังคงเกาะกันที่ระดับ 1,760 จุด สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ คือ กลุ่มอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มมีเดีย และกลุ่มขนส่ง เนื่องจากปีหน้าคาดการณ์ว่า กลุ่มดังกล่าวจะมีกำไรเติบโต 27.4% 25.5% 32.4% และ 80.5% ตามลำดับ
ส่วนหุ้นปันผลที่น่าสนใจ คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่ม Material (ปูนซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง) เพราะอาจให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.4% และ 5% ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญต่อตลาดหุ้นในปี 2561
1.เฟด อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเดือนธ.ค.2560 และปีหน้าอีก 3 ครั้ง ,การลดขนาด QE พร้อมคาดหวังการแก้กม.ภาษี,เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ผลคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐคาดแข็งค่าเทียบเงินบาท
2.กลางปี 2561 อัตราดอกเบี้ยของไทยอาจปรับขึ้น 2 ครั้ง จาก 1.50% เป็น 2% ,กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ฟันด์ ขนาด 7-8 หมื่นล้านบาท
3.เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ไตรมาสนับจากไตรมาส 3 ปี 2560
4.รัฐบาลจัดการเลือกตั้งปลายปี 2561
5.แผนพัฒนาโครงการเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC
6.เน้นลงทุนในกลุ่มเชื่อมโยงเศรษฐกิจในประเทศ เช่น การบริโภค ส่งออก สื่อมีเดีย สินเชื่อบุคคล และท่องเที่ยว
เรื่องหนึ่งที่นักลงทุนต้องไม่ลืม แม้หุ้นตัวนั้นจะอยู่ในมุมที่ดี เพราะมีภาพใหญ่ค่อยเอื้ออำนวย แต่ต้องพิจารณาราคาหุ้นด้วยว่า จังหวะเข้าซื้อแพงไปหรือยัง…
my idol #C
0
ขอบคุณที่ติดตามนะคะ
0