ต้นทุนการให้บริการที่เพิ่มขึ้นในปีก่อน จากการขยายโครงข่ายทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้รับในเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ทำกำไรสุทธิในปี 2561 ได้เพียงระดับ 29,682.18 ล้านบาท ลดลง 1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 30,077.31 ล้านบาท
แต่ในฝั่งของรายได้รวมยังคงเติบโต 7.7% มาอยู่ระดับ 169,856 ล้านบาท จากการเติบโตของรายได้การให้บริการที่ระดับ 3.8% (รวมรายได้ของซีเอสลอกซ์ หรือ CSL และรายได้ค่าเช่าเครื่องและอุปกรณ์จากการเป็นพันธมิตรกับทีโอที) ขณะที่ EBITDA ก็ขยายตัว 4.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 73,792 ล้านบาท
ปัจจุบันรายได้ของ ADVANC มาจาก 3 ธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 94% ในปีก่อนมีรายได้ 124,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการใช้งาน 4G เติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการใช้งานดาต้าของลูกค้า หลังบริษัทได้ประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตช์ ทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่กว้างที่สุดในอุตสาหกรรม (ความกว้าง 2 คูณ 60 เมกะเฮิรตช์) ส่งผลให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านเลขหมาย ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2561
2 .ธุรกิจเอไอเอส ไฟเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ตบ้าน ปีก่อนมีรายได้ 4,436 ล้านบาท หรือเติบโต 42% หลังมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้งปี 209,300 ราย คิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขั้นทั้งอุตสาหกรรม แม้การแข่งขันในตลาดจะดุเดือด
3. ธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิส หลังเอไอเอสได้ขยายแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สำคัญสำหรับกลุ่มลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร ล่าสุดแพลตฟอร์มวิดีโอ AIS PLAY ได้รับการตอบรับอย่างดี โดยมียอดลูค้าใช้งานต่อเนื่องกว่า 1.7 ล้านราย และติด 1 ใน 5 แอปพลิเคชันการรับชมคอนเทนต์ที่ลูกค้าเลือกใช้
แล้วปี 2562 ADVANC จะพลิกกลยุทธ์อะไรมาขับเคลื่อนผลกำไร ไปติดตามอ่านกันค่ะ
สำรวจโจทย์ใหญ่ “ซีอีโอ” ADVANC
คุณศิรภพ ปภัทธนนันท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ยืนยันว่า คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC วางวิสัยทัศน์การบริหารงานในปี 2562 ชัดเจนว่า
1. รายได้จากการให้บริการหลักต้อง “เติบโตในอัตราเลขตัวเดียวระดับกลาง” จากการเติบโตของทุกธุรกิจ
2. ต้องมีอัตรากำไร EBITDA margin ใกล้เคียงกับปีก่อน
3. งบลงทุนโครงข่ายต้องอยู่ในตัวเลข 20,000-25,000 ล้านบาท
4. นโยบายเงินปันผล ไม่ต่ำกว่า 70% ของกำไรสุทธิ
สำหรับแผนงานของ “ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่” ปัจจุบันเอไอเอสมีฐานลูกค้าในมือ 41 ล้านราย แบ่งเป็นระบบ Prepaid ประมาณ 80% (สร้างรายได้สัดส่วน 54%) และระบบ postpaid ประมาณ 20% (สร้างรายได้สัดส่วน 43%) ซึ่งเราเป็น “เบอร์หนึ่ง” ของอุตสาหกรรมกินมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 สัดส่วน 48%
ฉะนั้นในปี 2562 ยังคงเดินหน้า“รักษาแชมป์ต่อไป” ด้วยการให้ความสำคัญต่อการขยายการเติบโตในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการให้บริการลูกค้าองค์กร และผลักดันบริการดิจิทัลเซอร์วิสใหม่ๆ รวมถึงออกไปหาตลาดใหม่ๆ อย่างตลาดแรงงานต่างชาติ และตลาดนักท่องเที่ยว เช่น คนจีน เป็นต้น ซี่งมาร์เก็ตแชร์ตรงนี้ยังสามารถไปได้อีกมาก ปัจจุบันโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายดีแทค เอไอเอส และทรู มีจำนวนซิมรวมกันประมาณ 90 ล้านเลขหมาย (1 คน ใช้มากกว่า 1 ซิม)
( ADVANC Roadshow @ Bualuang ณ Bualuang Investment Station )
วันนี้การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแคมเปญส่วนลดเครื่องโทรศัพท์มือถือ แต่การแข่งขันราคาจากการนำเสนอแพ็คเกจแบบใช้งานไม่จำกัดด้วยความเร็วคงที่ (Fixed-Speed Unlimited) จะเริ่มชะลอตัวลงไม่ดุเดือดเหมือนช่วงที่ผ่านมา
ในส่วนของแผนงาน “ธุรกิจเอไอเอส ไฟเบอร์” หลังทำธุรกิจนี้มา 4 ปีเต็ม เรามีมาร์เก็ตแชร์ระดับ 8% มีฐานลูกค้าในมือ 730,000 ครัวเรือน ครอบคลุม 57 จังหวัด (ปี 2560 มีลูกค้าในมือ 500,000 ราย) แม้ธุรกิจจะเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า แต่ในปี 2562 เราจะ “เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่”
ด้วยการมุ่งเน้นทำตลาดแบบ FMC (Fixed-Mobile Convergence) หรือการผนวกรวมบริการทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์และโทรศัพท์มือถือเป็นแพ็กเกจรวมที่ให้บริการกับลูกค้า เรียกว่า “แพ็คเกจเดียวตอบโจทย์ทั้งครัวเรือน” โดยจะอาศัยต่อยอดจากฐานลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากแผนงานนี้คาดว่าจะทำให้มีฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 1 ล้านราย และตัวเลขมาร์เก็ตแชร์อาจขยับขึ้นเป็นระดับ 10% ปัจจุบันตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านมีผู้เล่น 4 ราย คือ ทรู, 3BB broadband, TOT และ AIS
“ปัจจุบันการใช้ดาต้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยลูกค้าของเราใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 11 GB เติบโตมาจาก 7 GB เมื่อปลายปี 2560 ขณะที่ฐานลูกค้า 60% ใช้ระบบ 4G เติบโตมาจาก 40% เมื่อปลาย 2560 และมีลูกค้าใช้ระบบ 2G ประมาณ 2 ล้านคน ที่เหลือเป็นระบบ 3G”
สำหรับ “ธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิส” ปัจจุบันมีฐานลูกค้าทั่วไปประมาณ 90% ของรายได้ และลูกค้าองค์กรประมาณ 10% ของรายได้ ตามแผนงานหลังเข้าซื้อกิจการของ ซีเอสลอกซ์ (CSL) ในปี 2561 จะทำให้สัดส่วนลูกค้าองค์กรขยายตัวมากขึ้น คาดว่า รายได้จากการให้บริการลูกค้าองค์กรจะยังคงเติบโตใน “อัตราเลขหลักเดียวระดับสูง” (High single digit) ในปี 2562
และจากการที่บริษัทในเครือเข้าร่วมลงทุนกับบริษัท แรบบิท ไลน์ เพย์ จำกัด และบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด สัดส่วนบริษัทละ 33.33% ทุนจดทะเบียน 599.99 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2561 จะผลักดันให้แพลตฟอร์มธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือของเอไอเอสเติบโตมากขึ้น
“เอไอเอสแข่งขันเรื่อง “คุณภาพ” เป็นหลัก คุณภาพในที่นี้ ไม่ได้แปลว่า สปีดต้องเร็วที่สุดอย่างเดียว แต่สปีดเร็วแล้ว ลูกค้าไปใช้บริการตรงไหนต้องไม่ติดขัด” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย
สัปดาห์หน้า “เม่าจำไม By Bualuang Securities” จะมาเล่าเรื่องอะไรให้ฟังอีก รอติดตามนะคะ….
แสดงความคิดเห็น