หมวดที่ 2: คำถามที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย
1) วิธีการลงทุนใน DW ทำอย่างไร?
Step 1: เลือกชนิดของ DW ตามมุมมองบนหุ้นอ้างอิง เช่น ถ้ามองว่าหุ้นอ้างอิงนั้นจะขึ้น ให้ พิจารณา Call DW แต่ถ้ามองว่าหุ้นจะลงให้พิจารณา Put DW
Step 2: พิจารณาความเสี่ยงที่เรารับได้และระยะเวลาการถือครอง
กรณีรับความเสี่ยงได้สูงหรือถือสั้นๆ : ควรเน้นการลงทุนใน DW ที่มีอัตราทดสูง
กรณีรับความเสี่ยงได้ต่ำหรือถือนานๆ : ควรเน้นการลงทุนใน DW ที่มีการเสื่อมค่าเวลาต่ำ
Step 3: เลือกผู้ออก DW ที่มีความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ผู้ดูแลสภาพคล่อง พร้อมตรวจสอบราคาที่เหมาะสมของ DW ก่อนซื้อทุกครั้ง
Step 4: ติดตามสถานะการลงทุนอย่างใกล้ชิด (ควรมีการกำหนดจุด Cut loss และ Take Profit อย่างแน่นอน)
รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.blswarrant.com/DW_Trading_Strategy
2) คำศัพท์ที่สำคัญเกี่ยวกับ DW มีอะไรบ้าง?
- อัตราทด (Effective Gearing): เป็นเครื่องมือในการวัดความเสี่ยงด้านราคา DW (Effective Gearing ของ DW 3 เท่า หมายถึง ถ้าราคาหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนไป 1% ราคา DW จะเปลี่ยนแปลงประมาณ 3%)
- ความอ่อนไหว (Sensitivity) : เป็นเครื่องมือในการวัดความแกว่งตัวด้านราคา (Sensitivity ของ DW เท่ากับ 2 หมายถึง ถ้าราคาหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนไป 1 ช่องราคา ราคา DW จะเปลี่ยนแปลงประมาณ 2 ช่องราคา)
- การเสื่อมค่าเวลา (Time decay per day) เป็นค่าที่บอกว่าเมื่อเวลาผ่านไป1 วัน ราคา DW จะลดลงกี่เปอร์เซนต์ (กำหนดตัวแปรอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเช่น ราคาหุ้นอ้างอิง)
- ราคารับซื้อคืนโดยผู้ดูแลสภาพคล่อง (Indicative price) คือ ราคายุติธรรมของ DW ณ เวลานั้นๆ
ส่วนคำศัพท์อื่นๆ สามารถติดตามได้จาก http://www.blswarrant.com/Glossary
3) เทรด DW ควรใช้ Fundamental Analysis หรือ Technical Analysis ?
ควรใช้ Technical Analysis เพราะจะสามารถวิเคราะห์ทิศทางของราคาหุ้นอ้างอิงระยะสั้นได้ดีกว่า สอดคล้องกับการเทรด DW ที่ต้องอาศัยความไวในการทำกำไร
4) DW ใกล้หมดอายุสามารถลงทุนได้หรือไม่?
- สามารถลงทุนได้ เนื่องจาก DW ใกล้หมดอายุมักมีอัตราทดสูง
- แต่ไม่ควรถือครอง DW ใกล้ครบกำหนดอายุเป็นระยะเวลานานเพราะมักมีการเสื่อมค่าเวลาค่อนข้างสูง
- บล. บัวหลวงขอแนะนำว่าระยะเวลาการถือครองสูงสุดควรสัมพันธ์กับอายุคงเหลือของ DW (โดยนักลงทุนไม่ควรถือครอง DW ไม่เกิน 1 ใน 5 ของอายุคงเหลือ เพื่อไม่ให้โดนการเสื่อมค่าเวลาที่มากเกินไป)
5) ทำไมไม่ควรถือ DW จนครบกำหนดอายุ?
เพราะทางสรรพากรถือว่าเงินสดส่วนต่างที่นักลงทุนได้รับเมื่อถือ DW จนครบกำหนดอายุ เป็นเงินได้นอกตลาดซึ่งจะต้องเสียภาษีตามแบบ ภงด. 90 มาตรา 40 (8) ดังนั้นบริษัทจึงขอแนะนำให้นักลงทุนขายคืน DW ก่อนหรือภายในวันซื้อขายวันสุดท้าย เพราะรายได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้
6) วันซื้อขายสุดท้าย (Last Trade Date) ต่างจากวันครบกำหนดอายุ (Maturity Date) อย่างไร?
- วันซื้อขายสุดท้าย คือ วันที่นักลงทุนซื้อขาย DW ได้เป็นวันสุดท้าย กรณีที่นักลงทุนซื้อแล้วถือ DW จนผ่านวันซื้อขายวันสุดท้ายไปจะถือว่านักลงทุนใช้สิทธิโดยอัตโนมัติและจะได้รับเงินสดส่วนต่างจากการใช้สิทธิ (หากมี)
- วันครบกำหนดอายุโดยปกติจะอยู่ถัดจากวันซื้อขายวันสุดท้าย 4 วันทำการ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่นักลงทุนยังเห็น DW อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่สามารถซื้อขายได้เนื่องจากถูกขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) ดังนั้นนักลงทุนจึงไม่ต้องให้ความสำคัญต่อวันครบกำหนดอายุมากนัก
7) จะคำนวณ กำไร/ขาดทุน จากการลงทุนใน DW ทั้งกรณีซื้อแล้วขายแล้วซื้อแล้วถือจนครบกำหนดอายุอย่างไร?
- กรณีที่ 1: ซื้อแล้วขายก่อนครบกำหนดอายุ
กำไร/ขาดทุน = (ราคาขาย – ต้นทุนซื้อ) x จำนวน DW ที่ถือ - กรณีที่ 2: ซื้อแล้วถือจนครบกำหนดอายุ
กำไร/ขาดทุน = (เงินสดส่วนต่าง– ต้นทุนซื้อ) x จำนวน DW ที่ถือ
ทั้งนี้ เงินสดส่วนต่างกรณีของ Call DW = (ราคาอ้างอิง – ราคาใช้สิทธิ) x อัตราการใช้สิทธิต่อหน่วย
เงินสดส่วนต่างกรณีของ Put DW = (ราคาใช้สิทธิ – ราคาอ้างอิง) x อัตราการใช้สิทธิต่อหน่วย
*โดยปกติ ราคาอ้างอิงคือราคาปิดของหุ้นอ้างอิง ณ. วันซื้อขายวันสุดท้ายของ DW
**กรณีคำนวณเงินสดส่วนต่างติดลบให้ถือเป็นศูนย์
8) เงินสดส่วนต่างจากการใช้สิทธิได้คืนเมื่อไหร่ และต้องทำอย่างไรบ้าง?
นักลงทุนจะได้รับเงินสดส่วนต่างคืนภายใน 9 วันทำการหลังวันซื้อขายวันสุดท้าย โดยเป็นการโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ผูกไว้กับบัญชีซื้อขายหุ้นแบบอัตโนมัติ (บัญชีเดียวกับที่รับเงินปันผล)
9) ระยะเวลาในการลงทุนใน DW
- ระยะเวลาที่จะลงทุนใน DW นั้นจะขึ้นกับมุมมองของนักลงทุนต่อแนวโน้มของสินค้าอ้างอิง (โดยปกติไม่ควรเกิน 1 เดือน)
- ควรลงทุนในระยะสั้น หากนักลงทุนมองว่าสินค้าอ้างอิง ไม่มีทิศทางไม่ชัดเจน แต่ควรลงทุนในระยะยาว หากนักลงทุนเห็นทิศทางแนวโน้มของตลาดอย่างชัดเจน
- นอกจากนี้ บล. บัวหลวงขอแนะนำว่าระยะเวลาการถือครองสูงสุดควรสัมพันธ์กับอายุคงเหลือของ DW (โดยนักลงทุนไม่ควรถือครอง DW ไม่เกิน 1 ใน 5 ของอายุคงเหลือ เพื่อไม่ให้โดนการเสื่อมค่าเวลาที่มากเกินไป)
10) ผู้ดูแลสภาพคล่องทำงานดีหรือไม่ดีดูจากอะไร?
- Bid-Offer ของ DW เปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กับราคาและปริมาณเสนอซื้อเสนอขายหุ้นอ้างอิง (ตาม Indicative Price ที่ให้ไว้ในเวปไซด์)
- ปริมาณ Bid-Offer Volume มีมากเพียงพอต่อการเข้าออก
- มีการส่ง Bid-Offer เป็นเวลาที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของตลาดหลักทรัพย์มากๆ
11) เรารู้ได้ไงว่า DW ตัวไหน Market Maker ควบคุมราคาเสนอซื้อเสนอขายไม่ได้?
- ประกาศแจ้งเตือนบนเวปไซด์ผู้ออกฯ (สำหรับ DW01 สามารถติดตามได้จาก www.bualuang.co.th, www.blswarrant.com, www.set.or.th)
- ให้พิจารณาราคาซื้อขาย ณ ปัจจุบัน หากสูงกว่าราคารับซื้อคืน ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่าผู้ดูแลสภาพคล่องควบคุมราคาไม่ได้
ทั้งนี้บริษัทขอแนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนใน DW ที่ผู้ดูแลสภาพคล่องไม่สามารถดูแลราคาได้ตามปกติ เพราะมีโอกาสที่ราคาจะขึ้นลงไม่เป็นไปตามกลไกซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่ผู้ลงทุนได้
12) ทำไมต้องออก DW ส่วนเพิ่ม และการออกส่วนเพิ่มมีผลกระทบต่อผู้ลงทุนอย่างไร?
- เมื่อผู้ดูแลสภาพคล่องมีจำนวนหุ้นไม่เพียงพอต่อจะไม่สามารถควบคุมราคาเสนอซื้อเสนอขาย DW ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ดังนั้นการออก DW เพิ่มเติมจึงความจำเป็นเพื่อจะสามารถกลับมาดูแลราคาได้ตามปกติ
- ดังนั้น ในวันที่ส่วนเพิ่มเริ่มเข้าทำการซื้อขาย ราคา DW มีโอกาสปรับตัวลดลงไปสู่ราคาที่เหมาะสม
13) DW บางตัวทำไมวาง Bid-Offer น้อย?
- โดยปกติ ผู้ดูแลสภาพคล่องจะวาง Bid-Offer Volume ของ DW ให้สัมพันธ์กับ Bid-Offer Volume ของหุ้นอ้างอิง ณ ขณะนั้นๆ ดังนี้หาก Bid Offer Volume ของหุ้นอ้างอิงน้อย Bid Offer ของ DW ก็จะน้อยตามไปด้วย
- ในภาวะที่ผู้ดูแลสภาพคล่องเหลือ DW ในมือน้อยก็จะส่ง Offer Volume น้อยลงด้วย
- ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่ต้องการ DW จำนวนมาก ให้ส่งคำสั่งซื้อแบบเจาะจงราคา อย่าส่งคำส่งซื้อที่ราคาตลาดทั้งหมดแบบทันที (Special Market Order) เพราะจะได้ของที่ราคาแพงเกินจริง
14) DW ราคาต่ำมากๆ เช่น 10 สตางค์ สามารถเทรดได้หรือไม่?
ได้ แต่ไม่แนะนำเนื่องจาก DW ราคาต่ำมักจะมีการเสื่อมค่าเวลาสูง รวมถึงมีการขยับราคาที่ค่อนข้างช้า (เช่นหุ้นอ้างอิงต้องขยับ 10 ช่อง DW ถึงขยับ 1 ช่อง)
15) DW ที่ Out of the money มากๆ จำเป็นต้องรับซื้อคืน 0.1 บาทเสมอหรือไม่
- สำหรับ บล. บัวหลวงจะรับซื้อ DW คืนที่ราคา 0.01 บาทตลอด ไม่ว่า DW จะ Out of the money เพียงไหนก็ตาม
- สำหรับ บล. อื่นอาจไม่ได้รับซื้อคืนที่ 0.01 เสมอ ดังนั้นอาจจะต้องเช็ค Indicative Price ด้วย
16) สัดส่วนการลงทุนใน DW ควรเป็นเท่าไหร่ของเงินทั้งหมด?
โดยปกติไม่ควรเกิน 10-20% ของมูลค่าพอร์ตรวม
17) เข้าซื้อ Put DW ก่อนหน้าวันที่หุ้นอ้างอิงขึ้น XD สามารถทำกำไรแบบฟรีๆ ได้หรือไม่?
ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้ออกจะมีการปรับสิทธิ DW ทุกตัวเพื่อขจัดผลกระทบของราคาหุ้นอ้างอิงที่ปรับตัวลดลงจากการจ่ายเงินปันผล ดังนั้นผู้ลงทุนที่ถือ Call DW และ Put DW จะไม่ได้รับผลกระทบจากราคา DW ที่ปรับตัวลดลงหากในวันขึ้นเครื่องหมาย XD ราคาหุ้นอ้างอิงปรับตัวลดลงเท่ากับเงินปันผลที่จ่ายพอดี ทั้งนี้สำหรับ Corporate Action อื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นอ้างอิง อย่างเช่น การเพิ่มทุน, แตกพาร์, แจกหุ้นปันผล ก็จะพิจารณาแบบเดียวกัน
18) DW01 ตัดค่าเสื่อมเวลาวันหยุดหรือไม่?
- สำหรับ DW01 ทุกรุ่นตัดค่าเสื่อมเวลาตามวันทำการที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการซื้อขายโดยไม่รวมวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ตั้งแต่ต้นปี ดังนั้น นักลงทุนจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบขาย DW ที่ถืออยู่ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวหากกังวลปัจจัยดังกล่าว
- อย่างไรก็ดีสำหรับ DW ที่ออกโดยผู้ออกรายอื่นนั้นอาจมีนโยบายที่แตกต่างกัน เช่น อาจมีการตัด time decay ในช่วงวันหยุด เป็นต้น ดังนั้นนักลงทุนควรตรวจสอบเงื่อนไขกับผู้ออกแต่ละรายก่อนการลงทุนทุกครั้ง
19) S50 DW เป็น DW ที่อ้างอิงบน SET50 Index หรือ SET50 Index Futures?
- สำหรับ S50 DW01 ที่มีสัญลักษณ์สุดท้ายตั้งแต่ A-E จะอ้างอิงกับ SET50 Index เช่น S5001C1602A แต่หากมีสัญลักษณ์สุดท้ายเป็น F-Z จะอ้างอิงกับ SET50 Index Futures เช่น S5001C1603G
- สำหรับ S50 DW ของผู้ออกรายอื่นๆ อาจมีวิธีการตั้งสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งผู้ลงทุนควรตรวจสอบกับผู้ออกรายๆนั้นให้แน่ใจก่อนการลงทุนทุกครั้งว่าเป็น DW ที่อ้างอิง SET50 Index หรือ SET50 Index Futures
20) DW ส่งคำสั่ง ATC ช่วง Call Market เสี่ยงมั้ย?
- โดยปกติ ผู้ดูแลสภาพคล่องของ บัวหลวงไม่ได้ดูแลราคาเสนอซื้อเสนอขายตอนช่วง Pre Close ดังนั้นนักลงทุนไม่ควรส่งคำสั่งซื้อหรือขาย DW แบบ ATC เพราะอาจจะซื้อได้ที่ราคาสูงเกินจริง หรือ อาจจะขาย DW ได้ที่ราคาต่ำเกินจริง
- อย่างไรก็ดีหากมุมมองว่าหุ้นอ้างอิงจะปิดกระโดดไปด้านใดด้านหนึ่ง นี่อาจจะเป็นโอกาสทำกำไร โดยการส่งคำสั่งแบบเจาะจงราคาเข้าไป
- สำหรับนักลงทุนมือใหม่แนะนำซื้อ DW ในช่วงเวลาปกติ
21) ทำไมต้องเลือกซื้อ DW01?
- หลักทรัพย์บัวหลวงมีการดูแลสภาพคล่องของ DW01 อย่างสม่ำเสมอ โดยยึดหลัก “บิด ออฟเฟอร์ชิด หนา ราคาตามแม่” เพื่อให้รักษาผลประโยชน์สูงสุดของนักลงทุนที่ลงทุน DW01 เป็นสำคัญ*
- หลักทรัพย์บัวหลวงเป็นผู้ออกแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดเผยราคารับซื้อ DW คืน (Indicative Price) เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการทำราคา DW โดยบริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการลงทุน ตลอดจนการให้ความรู้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
- หลักทรัพย์บัวหลวงมี DW01 ให้เลือกลงทุนเฉลี่ยกว่า 170 รุ่น ครอบคลุมกว่า 75 หลักทรัพย์อ้างอิง โดยนักลงทุนสามารถเลือกทำกำไรใน DW01 ไม่ว่าหุ้นอ้างอิงขาขึ้นหรือขาลง
- โดยปกติ DW01 ถูกออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ time decay ต่ำและไวต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอ้างอิง
- หลักทรัพย์บัวหลวงเผยแพร่ DW01 Newsletter ที่ต่อยอดจากบทวิเคราะห์หุ้นอ้างอิงอย่างสม่ำเสมอ มีแนวรับแนวต้านของราคา DW01 พร้อมคุณลักษณะสำคัญอันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้งานของนักลงทุนอย่างครบครัน
แสดงความคิดเห็น